ด้วยความที่ Hawk Eagle ทุกชนิดเป็นนักล่าที่อาศัยอยู่ตามป่า บางครั้งจึงถูกเรียกว่า“เหยี่ยวดง” พวกมันเป็นนกล่าจากเวหาที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในป่า ทำให้หลายชนิดถูกเหยี่ยวผึ้ง (Oriental Honey-buzzard) วิวัฒนาการมาให้มีสีสันและลวดลายคล้ายคลึงกัน การเลียนแบบลักษณะนี้เรียกว่า Batesian mimicry ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นอันตรายเลียนแบบชนิดที่อันตรายกว่าเพื่อให้สัตว์อื่นเกรงกลัวที่จะโจมตี
เหยี่ยวดงที่มีขอบเขตการกระจายพันธุ์แพร่หลายที่สุดในประเทศไทยคือเหยี่ยวต่างสี (Changeable Hawk Eagle) พบได้ในป่าหลายประเภท โดยเฉพาะป่าที่ค่อนข้างโปร่งอย่างป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง กระจายอยู่ทั่วทุกภาคยกเว้นภาคกลาง พบได้ตั้งแต่ที่ราบไปจนถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตร
ชื่อไทยของเหยี่ยวต่างสีน่าจะมีจากการที่มันมีชุดขน (colour morph) สองแบบเหมือนเสือดาวและเสือดำ แบบที่พบได้บ่อย (typical morph) มีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมเทา ด้านล่างมีลายขีดรูปหยดน้ำสีน้ำตาลเข้มและมีขีดลากยาวใต้จงอยปากผ่านกลางลำคอ ส่วนชุดขนอีกแบบที่เรียกว่า dark morph นั้นมีสีน้ำตาลเข้มทั่วทั้งตัว มีรายงานทางภาคใต้ ส่วนชุดขนปกติในวัยเด็กซึ่งมีลำตัวด้านล่างและใบหน้าสีขาวโพลน
ในอดีตเหยี่ยวต่างสีเคยถูกจัดเป็นชนิดย่อยของ Crested Hawk Eagle ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่มีหงอนยาวเหมือนกับเหยี่ยวดงชนิดอื่นๆ ต่างจากเหยี่ยวต่างสีที่มีเพียงหงอนสั้นๆ
ความสง่างามและน่าเกรงขามของเหยี่ยวต่างสีเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะเหยี่ยวชนิดนี้และนกล่าเหยื่ออื่นๆต่างเป็นที่ต้องการของตลาดในธุรกิจค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งนกนักล่าที่ถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์เหล่านี้ก็มักลงเอยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆและอายุไม่ยืน เนื่องจากไม่มีโอกาสได้โบยบินและหาอาหารกินเองเหมือนนกในธรรมชาติ จริงๆแล้วนกล่าเหยื่อทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ผู้ใดมีไว้ในครอบครองถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายทั้งสิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น